ศาลพ่อขุนจเรปาน
ศาลพ่อขุนจเรปาน
เมืองปานเป็นชุมชนทางทิศเหนือของเขลางค์นคร เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์พืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่ทุ่งนาเรียกว่า "ทุ่งสามหมวก" หรือ "ทุ่งสามโค้ง" ปัจจุบันโค้งที่หนึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านน้ำจำ หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองปาน โค้งที่สองอยู่บริเวณภูเขาดวงตา บ้านแพะ หมู่ที่ 4 ตำบลเมืองปาน และโค้งที่สามอยู่บริเวณพระเจดีย์ม่อนเวียง บ้านทุ่งโป่ง หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองปาน ความสมบูรณ์ของทุ่งสามโค้งสามารถใช้เลี้ยงราษฎรได้อย่างเพียงพอ ด้วยเหตุนี้เมืองปานจึงเป็นที่หมายของเมืองอื่น ๆ เช่น พม่าและเงี้ยวที่ต้องการยึดครองเพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร
เมืองปานมีนายบ้านคนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อเป็นผู้มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน เด็ดเดี่ยว และเสียสละ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกต่อต้านพวกข้าศึกที่บุกรุกเข้ามา ได้รับชัยชนะหลายครั้งจนข้าศึกศัตรูไม่กล้ามารบกวนอีกต่อไป นายบ้านผู้นี้ได้สร้างเครื่องส่งสัญญาณในการแจ้งเหตุแก่หมู่บ้านและเป็นสัญญานัดหมายเพื่อร่วมมือกันต่อสู้ข้าศึกศัตรูโดยกันใช้ทองคำมาหลอมทำเป็น "ปาน" (ลักษณะคล้ายฆ้องใหญ่แต่โหนกที่ตีเล็กกว่า) ชาวบ้านเรียกว่า "ปานคำ" (= ปานทอง) นายบ้านผู้นี้เป็นผู้ทำปานเป็นสัญญาณแจ้งเหตุต่าง ๆ แก่ชาวบ้าน จนได้รับการขนานนามจากชาวเมืองปานว่า "เจ้าพ่อขุนจเรปาน" และเมืองแห่งนี้ได้ชื่อว่า เมืองจเรปาน ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเหลือเพียง เมืองปาน
อำเภอเมืองปานแต่เดิมรวมอยู่ในท้องที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ต่อมาทางกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่อำเภอแจ้ห่มมีอาณาเขตกว้างขวาง มีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครองและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในท้องที่ จึงได้ประกาศแบ่งท้องที่อำเภอแจ้ห่มตั้งเป็น กิ่งอำเภอเมืองปาน ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 และยกฐานะเป็น อำเภอเมืองปาน ตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
ค้นหา